ความเป็นมา

ความเป็นมาและความสำคัญ

จากสถานการณ์การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในประเทศไทย ก่อให้เกิด ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ ทําให้เกิดอุทกภัย วาตภัย และเกิดความแห้งแล้ง ดินถล่ม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดภัยธรรมชาติ ปรากฏการณ์ที่ทําลายชีวิต และทรัพย์สินของมนุษยชาติอย่างรุนแรงนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการกระทําของมนุษย์ที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อตอบสนองความต้องการโดยไม่มีการปลูกป่าทดแทน จึงทําให้ป่าไม้เสื่อมโทรมและมีปริมาณลดลงอย่างมากส่งผลต่อแหล่งต้นน้ำ และระบบนิเวศของประเทศไทยทำให้ขาดความอุดมสมบูรณ์

“น่าน” พื้นที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเป็นต้นน้ำน่าน หัวใจสำคัญของระบบน้ำ ใน ประเทศไทย (ร้อยละ 45 ของแม่น้ำเจ้าพระยา) แต่ “น่าน” ต้องเผชิญกับปัญหารุกเร้ารุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมานานหลายปี จากการที่ป่าต้นน้ำ น่านถูกบุกรุกทำลาย ในอัตราสูงในช่วงปี 2548-2552 พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่าน ถูกแผ้วถาง ทำลายเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ข้าวโพด เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า กล่าวคือ จาก 3 แสนไร่ เป็น 9 แสนไร่ ภายในเวลาเพียง 4 ปี ทำ ให้ “น่าน” เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และเป็นที่มาการทำลายป่าไม้ ทำให้เกิดของอากาศเสียเพราะหมอกควัน จากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร ดินเสื่อมด้วยสารตกค้างจากการใช้เคมี แนวลุ่มน้ำ เกิดอุทกภัยรุนแรงซ้ำซาก พื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดน่าน 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.07 ตาราง กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าไม้และภูเขาเหลือเพียง 3,437,500 ไร่ หรือร้อยละ 47.94 (โดยกรมป่าไม้,2560,ม.ป.ท.)

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยาม บรมราชกุมารี แก่ข้าราชการ หัวหน้าหน่วยงานและบุคลากรองค์กรเอกชนเอกที่เกี่ยวข้องกับโครงการ รักษ์ป่าน่าน “ …การรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มีหลากหลายวิธี วิธีการหนึ่ง ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนนั่นคือการให้โอกาสเด็ก และเยาวชนของเราได้เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวของเขา มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความรัก ความผูกพัน และหวงแหนในทรัพยากร ของตน โดยการจัดกิจกรรมที่เน้นให้เด็ก และเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เรียนรู้จากวิถีการดำรงชีวิตของชุมชน ที่พยายามปรับตัวให้อยู่ร่วมกับป่า ด้วยการผสมผสานความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนอย่างสมดุล…” (รายงานประชุมสัมมนารักษ์ป่าน่านครั้งที่ 1 วัน จันทร์ ที่ 10 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน)