โรงเรียนของพ่อ สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่ คนอยู่ดี ป่าอยู่ได้

โรงเรียนของพ่อ สานต่อเกษตรทฤษฎีใหม่ คนอยู่ดี ป่าอยู่ได้

โรงเรียนผู้นำการพัฒนาทักษะความรู้คู่ลักษณะนิสัยแห่งศตวรรษที่ 21 น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ทักษะสมรรถนะสาขาอาชีพที่ช่วยเหลือพึ่งพาตนเองบนวิถีความพอเพียงและยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ของโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ที่ว่า “เป็นผู้นำด้านทักษะชีวิต ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสงเคราะห์เด็กที่ไม่มีที่เรียน เด็กที่มีฐานะยากจน เด็กชาวเขาเผ่าเมี้ยน ม้ง ลัวะ และเด็กที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างอำเภอ มีหอพักในโรงเรียนให้กับนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย จากการบอกเล่าเรื่องราวการดำเนินการขับเคลื่อนหลักสูตรรักษ์ป่าน่านสู่การจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่าน่านของโรงเรียน โดยจัดการเรียนรู้วิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาปลูกข้าวตามมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) และตามกิจกรรมเสริมหลักสูตรทุกกลุ่มสาระด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการตามตัวชี้วัด ปลูกป่า 1 คน 1 ต้น โดยร่วมมือกับชุมชนในการปลูกป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

นวัตกรรมที่โดดเด่นที่สามารถพัฒนาสู่นวัตกรรมต้นแบบ คือ การเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่เกษตรทฤษฎีใหม่ของนักเรียนในการปลูกข้าวตามมาตรฐาน ฝึกการลงมือปฏิบัติจริงแบบครบวงจร ตั้งแต่ไถนา เพาะกล้า ปลูกข้าว ดูแล เก็บเกี่ยว นำข้าวไปจำหน่ายให้โรงครัวในโรงเรียนเพื่อเป็นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว จะทำการปลูกผักหรือพืชที่มีอายุสั้น เช่น ปลูกผักส่วนครัว ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง ผักกาด กระหล่ำปลี เป็นต้น โดยผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหาร และจำหน่ายให้กับชุมชน

นักเรียนสามารถถอดบนเรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน ตระหนักถึงความสำคัญของข้าว การปลูกข้าว สืบสานการทำนาทำให้นักเรียนเกิดความขยัน มีวินัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน และมีจิตอาสา ในการดำเนินโครงการรักษ์ป่าน่าน ได้ใช้แผนการจัดการเรียนรู้รักษ์ป่าน่าน บูรณาการตามตัวชี้วัด ปลูกป่า 1 คน 1 ต้น ร่วมกับชุมชน มีการปลูกต้นไม้ในโรงเรียนและในชุมชน โดยนักเรียนเป็นคนปลูก ดูแล สังเกตการณ์เจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ ถ้าต้นไม้ตาย ต้องหาสาเหตุ และทำการปลูกทดแทน มีการปลูกต่อเนื่องทุกๆ ปี จาก 1 คน 1 ต้น 1 ปี ต่อไปจะเป็น 1 ต้น หลายคนหลายปี

ความสำเร็จจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ทำให้นักเรียน 8 ชาติพันธุ์ชนเผ่า มีทักษะอาชีพ มีเงินออม ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกหม่อน โดยเฉพาะหม่อนเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่โรงเรียนปลูกเพื่อนำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์น้ำหม่อน แยมหม่อน และไอศกรีมลูกหม่อน และในโอกาสต่อไปจะแปรรูปเป็นลูกอม ลูกหยีและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากหม่อน เพื่อเป็นของฝากของจังหวัดน่าน

จากการดำเนินการโครงการรักษ์ป่าน่าน ทำให้ครูและนักเรียน ได้ช่วยกันแต่งเพลง (ทำดนตรี ขับร้อง) จัดทำซีดีเพลงเกี่ยวกับป่าน่าน เพื่อเป็นสื่อให้นักเรียนและชาวน่าน ได้เข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของป่าน่าน โดยนำเพลงไปเปิดในโรงเรียนก่อนทำกิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้า ตอนเที่ยง เผยแพร่ในสถานีวิทยุรายการบ้านนี้ที่พ่อสร้าง จัดกิจกรรมรักษ์ป่าน่าน เพื่อเล่าขานสถานการณ์ป่าน่าน เชิญชวนอนุรักษ์ป่าน่าน ณ ข่วงเมืองน่าน และบริเวณงานถนนคนเดิน รวมทั้งจัดทำเป็นเสียงรอสายโทรศัพท์ เผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกัน

โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์
ต.ไชยสถาน อ.เมืองน่าน จ.น่าน